พระโพธิจักร หลังยันต์ "ส.๑" ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ขอบทาทองแจกกรรมการ
บูชา 40,000 บาท
พระโพธิจักร หลังยันต์ "ส.๑" องค์นี้ สภาพเก่าเก็บ สวยเดิมๆ ผิวหิ้ง หายาก
ท่านพ่อลี ท่านได้สะสมมวลสารที่เป็นมงคลศักดิ์สิทธิ์ไว้จำนวนมาก ได้นำมาเป็นส่วนผสมสร้างพระเครื่องของท่าน พระอาจารย์สนั่น และคุณมงคล จิรวัฒน์ เล่าว่า มีผงศักดิ์สิทธิ์และเส้นเกศาของ ๗ พระอาจารย์ที่กำลังดังในสมัยนั้นรวมอยู่ด้วยคือ
๑.พระอาจารย์ เสาร์ กันตสีโล
๒.พระอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต
๓.พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร
๔.พระอาจารย์ เทสน์ เทสรังสี
๕.พระอาจารย์ กงมา จิรปุญฺโญ
๖.พระอาจารย์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
๗.พระอาจารย์ ชา สุภัทโท
รวมกับผงเกสรดอกไม้ที่เป็นมงคล เกสรดอกไม้ ๑๐๘ ที่ใช้บูชาพระแล้วนำมาตากให้แห้งป่นจนละเอียดเป็นผง นอกจากนี้ยังมีดิน ทรายจากสถานที่สำคัญศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เช่น ดิน ทรายจากสถานที่ตรัสรู้ ดิน ทรายจากสถานที่นิพพานและที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง สำหรับในเมืองไทยนั้นก็ได้ดิน ทรายจากถ้ำทางภาคใต้ ซึ่งเรียกว่า "ถ้ำกองทราย" ถือว่าเป็นดิน ทรายที่ศักดิ์สิทธิ์ ทางไปเอานั้นลำบากมาก ต้องนั่งช้างเข้าไปถึง ๑ วันเต็มๆ ครั้นนั้นเดินทางไปกับพระมหาสมจิต และพระอาจารย์เม้า ทางภาคอีสานก็ได้ "ข้าวตาฤาษี" เป็นของศักดิ์สิทธิ์อยู่ในถ้ำเขตอำเภอ หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีเปลือกเป็นหินแข็งมาก ตะไคร่น้ำจับอยู่ภายนอกเขียวเต็มไปหมด ต้องนำมาทุบให้แตก จะมีไฟแลบ ข้างในจะมีเม็ดข้าว เล่ากันว่าเป็น ข้าวที่ตาฤาษีกินเหลือแล้วเอาหินห่อทิ้งไว้ อายุเป็นพันๆปีมาแล้ว และนอกจากนี้ยังได้เปลือกหอยพันปี จากในถ้ำแห่งหนึ่งทางภาคอีสานนี้ ลักษณะตัวยาวๆ ว่ากันว่ามีอายุยืนยาวมาก แต่ถ้ามีคนไปถูก มันจะตายทันที นำเปลือกหอยชนิดนี้มาป่นจนละเอียด
ส่วนผงพระเครื่องที่ชำรุดแตกหักจากกรุต่างๆ ที่ลูกศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยนำมาถวายนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่นจาก ลพบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย สุพรรณบุรี สงขลา อยุธยา เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อำเภอธาตุพนม ในกรุงเทพฯ และผงที่ท่านสร้างขึ้นเองอีกประมาณ ๑ บาตร นำมาป่นจนละเอียด ทั้งหมดนำมาคลุกเคล้าผสมเข้ากันดี แล้วจึงใส่ตุ่มตั้งไว้ พระอาจารย์สนั่น ท่านเรียกว่า "ผงวิเศษ" ทุกครั้งที่สร้างพระเครื่อง ท่านพ่อลีจะใส่ "ผงวิเศษนี้" ลงไปด้วย พร้อมกับ "น้ำมนต์ ๑๐๐ ปี" ที่ได้มาจากปราจีนบุรี และ "น้ำพระพุทธมนต์สรงพระธาตุ" ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
การสร้างพระเครื่องนี้เนื้อดินเผา ที่วัดป่าคลองกุ้งนั้น ดินส่วนใหญ่ที่นำมาสร้างเป็นดินที่ได้มาจากการขุดสระซึ่งอยู่ในบริเวณวัดป่าคลองกุ้งนั่นเอง ลักษณะจะเป็นดินเหนียวปนทราย นำมาแช่น้ำแล้วใส่ครกช่วยกันตำ ๔ คน ใส่ผงวิเศษ ใส่น้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อดินดีได้ที่แล้วจึงนำมาอัดแม่พิมพ์ นำออกผึ่งแดดเก็บไว้ เมื่อทำได้มากพอประมาณแล้วจึงนำมาเผาไฟเพื่อให้เนื้อพระแข็งแกร่ง พระอาจารย์ สนั่น เล่าว่าในบริเวณที่สร้างพระนั้น ท่านห้ามผู้หญิงเข้าเด็ดขาด
สำหรับต้นแบบพระพิมพ์พระเครื่องของท่านนั้น ได้มาจากประเทศอินเดีย เมื่อคราวไปประเทศอินเดียครั้งที่ ๒ กับโยมสมุทร สุทธิสาคร ขณะนั้นยังบวชเป็นพระอยู่ ต้นแบบพิมพ์จริงๆ นั้นเป็นพระที่แกะมาจากงาช้าง เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่กลางรูปใบโพธิ์ มียันต์ล้อมรอบอยู่ ๔ ตัว ถามผู้รู้ท่านอ่านว่า "พุทธจักร" แกะโดยฝีมือช่างอินเดีย พิมพ์นี้เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในท่าปางสมาธิ ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งเป็นรูปใบโพธิ์เช่นกัน แต่องค์พระ จะมองดูลำสันกว่า ประทับอยู่ในท่าปางปฐมเทศนา ยกพระหัตถ์ขึ้นระดับอก ไม่มียันต์ "พุทธจักร" ล้อมรอบองค์ พระทั้งสองพิมพ์นี้ นำมาแกะเป็นแม่พิมพ์ใหม่ ด้านหลังองค์พระจะเรียบ ไม่มียันต์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่บางองค์จะปรากฏเป็นรอยนิ้วมือบ้าง เพราะใช้อัดองค์พระพิมพ์ด้วยมือก็มี และนำมาปาดหลังก็มี
สำหรับพิมพ์ใบโพธิ์สมาธินั้น ภายหลังนำมาแกะแม่พิมพ์เพิ่มขึ้นอีก ลักษณะจะเล็ก และลีบกว่าพิมพ์แรก เราจึงเรียกแบบ “โพธิ์เล็ก” ซึ่งเป็นที่นิยมรองลงมาจาก “โพธิ์ใหญ่” และทั้งสองแบบนี้ บางองค์จะปรากฏยันต์อยู่ด้านหลังก็มี อาทิเช่น ยันต์ดวงใหญ่ “ส.๑” ซึ่งถือว่าออกที่วัดป่าคลองกุ้ง ยันต์ดวงเล็ก “ส.๒” ถือกันว่าออกที่วัดอโศการาม ที่เป็นยันต์เฑาะขัดสมาธิก็มีบ้างแต่น้อยมาก มียันต์ดวงอีกชนิดหนึ่ง เราเรียกว่า “ยันต์ดวงเล็ก” รอบๆยันต์มีเป็นกลีบบัวเล็กๆ ยันต์นี้ถือว่าออกที่วัดอโศการามเช่นกัน
พุทธคุณ เด่นทางด้าน แคล้วคลาด เมตตามหานิยม เกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต และหน้าที่การงาน
ขอบพระคุณข้อมูลจาก นิตยสารพระท่าพระจันทร์.com/post/9333
|
|
|
|